วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วันออกพรรษา

วันออกพรรษา

ประเพณีออกพรรษา ตักบาตรเทโว
 
         วันออกพรรษาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันที่ภิกษุอยู่ประจำวัดหรืออยู่ประจำที่แห่งใดแห่งหนึ่งเป็นเวลาครบ 3 เดือน วันออกพรรษาเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันปวารณา ซึ่งหมายถึง การที่พระภิกษุต่างสามารถตักเตือนซึ่งกันและกันได้โดยไม่มีการโกรธเคือง มีการว่ากล่าวตักเตือนในเรื่องข้อบกพร่องต่างๆ ที่ได้อยู่ร่วมกันมา 3 เดือน และผู้ที่ถูกว่ากล่าวตักเตือน จะต้องยอมรับและมีใจกว้างพิจารณาตนเอง แต่ผู้ที่ว่ากล่าวตักเตือนผู้อื่นก็จะต้องเป็นผู้มีความปรารถนาดีต่อผู้ที่ตนว่ากล่าวตักเตือน หลักการปวารณานี้พุทธศาสนิกชนสามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ได้กับการดำเนินชีวิต หรือการทำงานได้ เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาตนเองหรือการพัฒนาในหน่วยงาน องค์กรได้เป็นอย่างดี
         ในวันออกพรรษาเป็นวันปวารณาของสงฆ์โดยตรง ส่วนพุทธศาสนิกชนก็ให้ความสำคัญโดยถือเป็นวันพระ และมักที่จะไปทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล ฟังเทศน์ และในการทำบุญตักบาตร จะเรียกว่า ตักบาตรเทโว
         ตักบาตรเทโว  มาจากคำว่า ตักบาตรเทโวโรหณะ
         เทโวโรหณะ     แปลว่า  หยั่งลงมาจากเทวโลก
         ประเพณีการตักบาตรเทโวโรหณะ ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นการตักบาตรเนื่องในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงสู่มนุษย์โลก หลังจากที่ได้แสดงธรรมเทศนาโปรดพระมารดาเป็นการต้อนรับเสด็จพระพุทธองค์
         ประวัติความเป็นมาของประเพณีการตักบาตรเทโวโรหณะมีดังนี้
         พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชนอยู่เป็นประจำ ณ นครสาวัตถี จนมีประชาชนจำนวนมากหันมาเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงเป็นเหตุทำให้เหล่าเดียรถีย์เสื่อมลง (เดียรถีย์ หมายถึง นักบวชประเภทหนึ่งมีมาก่อนพระพุทธศาสนาและเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง มีพุทธบัญญัติว่า หากเดียรถีย์จะมาขอบวชในพระพุทธศาสนาต้องมารับการฝึก เพื่อตรวจสอบว่ามีความเลื่อมใสแน่นอนเสียก่อน เรียกว่า ติตถิยปริวาส) พวกเดียรถีย์เดือดร้อนเนื่องจาก เครื่องถวายสักการะก็ลดน้อยลงตามไปด้วย จึงคิดหาวิธีที่จะทำลายพระพุทธศาสนาโดยการกล่าวร้ายพระพุทธเจ้า สาวก แต่ประชาชนก็ยังเลื่อมใสศรัทธาเหมือนเคยในที่สุดเดียรถีย์จึงใช้อุบายทำลายพระพุทธศาสนาโดยการใช้พุทธบัญญัติที่ว่ามั่นใจว่าพระพุทธเจ้าไม่กล้า ฝ่าฝืนข้อห้ามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้เอง จึงช่วยกันกระจายข่าวให้ประชาชน ได้ทราบว่า “พระพุทธเจ้าและเหล่าสาวกสิ้นท่าหมดอิทธิฤทธิ์ แล้วงดการแสดง ตรงข้ามกับเหล่าคณาจารย์เดียรถีย์ ซึ่งมีปาฏิหาริย์อบรมมั่นคงเต็มที่และมีความพร้อมที่จะแสดงให้เห็นได้ทุกเมื่อถ้าไม่เชื่อก็เชิญพระพุทธเจ้ามาแสดงปาฏิหาริย์แข่งกันก็ย่อมได้เพื่อพิสูจน์ว่าใครจะเก่งกว่าใคร “
         ฝ่ายพระพุทธเจ้าและสาวกก็เงียบเฉย เดียรถีย์จึงกล่าวร้ายหนักอีกว่า “พระพุทธเจ้าไม่มีความสามารถในการแสดงอิทธิฤทธิ์” เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงคิดใคร่ครวญและตัดสินใจที่จะแสดงปาฏิหาริย์ให้พวกเดียรถีย์ได้ประจักษ์เพื่อไม่ให้พระพุทธศาสนาโดนย่ำยี โดยพระองค์ได้ประกาศว่าจะแสดงยมกปาฏิหาริย์ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ณ ใต้ต้นมะม่วง เมื่อฝ่ายเดียรถีย์รู้ ความดังนั้นจึงแบ่งพวกให้ไปทำลายต้นมะม่วงทุกต้นในเมืองสาวัตถี อีกพวกก็ช่วยกันสร้างมณฑปเพื่อแสดงปาฏิหาริย์ของตน และประกาศให้ประชาชนมาชมความล้มเหลวของพระพุทธองค์ เมื่อถึงกำหนดก็เกิดพายุใหญ่ทำให้มณฑปของเดียรถีย์พังหมดสิ้นส่วนพระพุทธเจ้ายังมิได้แสดงปาฏิหาริย์แต่อย่างใด
         ในวันนั้นเอง คนเฝ้าพระราชอุทยานของพระเจ้าปเสนทิโกศล ชื่อว่า นายคัณฑะ ได้ถวายมะม่วงผลหนึ่งแก่พระพุทธเจ้าเนื่องจากมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธองค์ พระพุทธองค์จึงสั่งให้พระอานนท์นำมะม่วงไปทำน้ำปานะ (ปานะ หมายถึง น้ำ ของสำหรับดื่ม) มาถวายและเอาเมล็ดมะม่วงวางบนดิน เมื่อทรงฉันน้ำปานะเสร็จ ก็ทรงล้างพระหัตถ์โดยให้น้ำรดลงบนเมล็ดมะม่วง ทันใดนั้นเอง ก็กลายเป็นต้นมะม่วงที่งอกเงยขึ้นมาและต้นใหญ่ หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าก็แสดงปาฏิหาริย์เนรมิตช่อไฟ ช่อน้ำเนรมิต บุคคลที่เหมือนพระองค์ทุกประการ ทรงแสดงธรรม จงกรม พระพุทธนิมิตให้ประชาชนได้ประจักษ์แก่สายตาจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาโดยทั่วกัน ส่วนเดียรถีย์จึงโดนประชาชนสาปแช่งจนย่อยยับกลับไป
         วันรุ่งขึ้นเป็นวันเข้าพรรษา พระองค์ประกาศว่าจะไปจะพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงต้องการเทศนาโปรดพระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดา เพื่อเป็นการสนองพระคุณ ดังนั้นพระองค์จึงได้เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดาในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน เมื่อถึงวันออกพรรษาพระพุทธองค์จึงเสด็จกลับสู่โลกมนุษย์ทางประตูเมืองสังกัสสนคร เป็นการหยั่งจากเทวโลก (เทโวโรหณะ) เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาในวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ประชาชนต่างพร้อมใจกันมารับเสด็จและนำอาหารมาเพื่อทำบุญตักบาตรเป็นจำนวนมาก ประชาชนบางพวกอยู่ห่างไม่สามารถที่จะถวายอาหารใส่ลงบาตรได้ จึงนำข้าวสาลีมาปั้นเป็นก้อนแล้วโยนใส่ลงในบาตร จนกลายมาเป็นประเพณีนิยมที่ว่าจะต้องทำข้าวต้มลูกโยนเพื่อไว้ใส่บาตรในวันเทโวโรหณะ ข้าวต้มลูกโยนทำมาจากข้าวเหนียวห่อด้วยใบมะพร้าวไว้หางยาวๆ
         วิธีตักบาตรเทโว จะอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนล้อเลื่อนที่บุษบก (บุษบก หมายถึง เรือขนาดเล็ก มียอด เคลื่อนที่ได้) และมีบาตรวางตั้งอยู่ด้านหน้า และจะมีคนลากล้อเลื่อนไปอย่างช้าๆ พระสงฆ์ก็จะเดินตามเรียงเป็นแถวส่วนพุทธศาสนิกชนก็จะนั่งเรียงเป็นแถว และนำข้าวต้มลูกโยนมาใส่บาตร ซึ่งในบางวัดอาจจะมีการจัดสถานที่เป็นแบบจำลองเหมือนกับที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจริงๆ

ประวัติวันออกพรรษา

วันออกพรรษา
วันออกพรรษา หรือ วันปวารณาออกพรรษา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่งในประเทศไทย วันออกพรรษา คือ วันที่สิ้นสุดระยะการจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน (นับตั้งแต่วันเข้าพรรษา) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันมหาปวารณา” คำว่า “ปวารณา” แปลว่า “อนุญาต” หรือ “ยอมให้” ใน วันออกพรรษา นี้พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรมใหญ่ เรียกว่า มหาปวารณา เป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันได้ เพราะในระหว่างเข้าพรรษา พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข การให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้ ทำให้ได้รู้ข้อบกพร่องของตน และยังเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันด้วยซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (ประมาณเดือนตุลาคม) หลังวันเข้าพรรษา 3 เดือน ตามปฏิทินจันทรคติไทย

สำหรับ คำกล่าว ปวารณา มีคำกล่าวเป็นภาษาบาลีเป็นดังนี้ “สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วาปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัส์มันโต อะนุกัทปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฎิกะริสสามิ” มีความหมายว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้วจักประพฤติตัวเสียเลยใหม่ให้ดี
การออกพรรษานั้น ถือเป็นข้อปฏิบัติตามพระวินัยสำหรับพระสงฆ์โดยเฉพาะจัดเป็นญัตติกรรมวาจาสังฆกรรมประเภทหนึ่ง ที่ถูกกำหนดโดยพระวินัยบัญญัติให้โอกาสแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ร่วมกันตลอด เมื่อถึง วันออกพรรษา พุทธศาสนิกชนถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญกุศลแก่พระสงฆ์ที่ตั้งใจจำพรรษาและตั้งใจปฏิบัติธรรมมาตลอดจนครบไตรมาสพรรษากาลในวันนี้ และวันถัดจาก วันออกพรรษา 1 วัน (แรม 1 ค่ำ เดือน 11) พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยยังนิยมไปทำบุญตักบาตรครั้งใหญ่ เรียกว่า ตักบาตรเทโว หรือ ตักบาตรเทโวโรหนะ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติที่กล่าวว่า ในวันถัด วันออกพรรษา หนึ่งวัน พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงจากเทวโลกกลับจากการโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพรรษาที่ 7 เพื่อลงมายังเมืองสังกัสสนคร พร้อมกับทรงแสดงโลกวิวรณปาฏิหาริย์เปิดโลกทั้งสามด้วย
วันออกพรรษา
กิจกรรมในวันออกพรรษา
วันออกพรรษา นี้พุทธศาสนิกชนถือว่าเป็นโอกาศอันดีที่จะกระทำ การบำเพ็ญกุศล เช่น ทำบุญตักบาตร จัดดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระที่วัดและฟังพระธรรมเทศนา ของที่ชาวพุทธนิยมนำไปใส่บาตรในวันนี้ก็คือ ข้าวต้มมัดไต้ และข้าวต้มลูกโยน และการร่วมกุศล “ตักบาตรเทโว” ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11
1. ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ
2. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
3. ร่วมกิจกรรม “ตักบาตรเทโว” (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11)
4. ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการและประดับธงชาติ และธงธรรมจักร ตามวัดและสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
5. ตามสถานที่ราชการ สถานที่ศึกษาและที่วัด ควรจัดให้มีนิทรรศการ การบรรยาย หรือ บรรยายธรรม เกี่ยวกับ วันออกพรรษา เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป
กิจกรรม ประเพณีวันออกพรรษา ของไทย
1. ประเพณีออกพรรษา แห่ปราสาทผึ้ง และการแข่งขันเรือยาว จังหวัด สกลนคร
2. ประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด จังหวัด แม่ฮ่องสอน
3. ประเพณีตักบาตรเทโว จังหวัด อุทัยธานี
4. ประเพณีบุญแห่กระธูป จังหวัด ชัยภูมิ
5. ประเพณีชักพระ ทอดพระป่า และแข่งขันเรือยาว จังหวัดสุราษฎร์ธานี
6. งานเทศกาลออกพรรษาบั้งไฟพญานาค จังหวัด หนองคาย
7. ประเพณีลอยผาสาด ดารดาษนทีโขง จังหวัด เลย
8. เทศกาลงานบุญออกพรรษา จังหวัดมุกดาหาร
9. ทำบุญตักบาตรสองแผ่นดิน เหนือสุดในสยาม จังหวัด เชียงราย
10. งานประเพณีลากพระและมหกรรมวัฒนธรรมสัมพันธ์ จังหวัดตรัง
11. ประเพณีแข่งโพนลากพระ จังหวัด พัทลุง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น